ChatGPT คืออะไร? ทำไมนักการตลาดยุคใหม่ควรใช้ให้เป็น

Wittawat Asawasukhon
February 23, 2023

ในช่วงรอบปีที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายๆ คนคงจะได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะอย่าง “ChatGPT” ที่ได้มีการคาดการณ์กันว่าจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อทุกแวดวงอาชีพในอนาคตอันใกล้นี้ อีกทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาต่างก็ให้ความเห็นตรงกันว่านี่คือจุดเริ่มต้นของโลกยุคใหม่ที่ AI จะเข้ามามีอิทธิพลต่อมนุษย์อย่างแท้จริง

ในบทความนี้ ผมขอพาทุกคนมาทำความรู้จักกับเจ้า “ChatGPT” ว่าคืออะไร มีบทบาทต่อแวดวงการตลาดอย่างไร และมีแนวทางการใช้งานเพื่อช่วยในการทำการตลาดได้อย่างไรบ้าง รวมถึงเปรียบเทียบกับคู่แข่งอย่าง Bard ว่ามีอะไรบ้างที่แตกต่างกัน เพื่อให้ทุกคนได้เห็นถึงประสิทธิภาพของเจ้าปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะนี้ และสามารถนำไปปรับใช้เป็นตัวช่วยในการทำการตลาดในโลกยุคใหม่ได้ด้วยเช่นกันครับ


ChatGPT คืออะไร

ChatGPT คือ AI Chatbot ที่สามารถตอบคำถามในรูปแบบข้อความ โดยจะดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลในอินเทอร์เน็ตมาตอบคำถามของผู้ใช้งาน เช่น การให้ข้อมูลเชิงวิชาการ แก้โจทย์คณิตศาสตร์ ช่วยสร้างกลุยุทธ์การตลาด เขียนโค้ด เขียนเพลง ตอบเรื่องปัญหาชีวิต เล่นมุกตลก ฯลฯ ซึ่ง ChatGPT ถูกสร้างและพัฒนาขึ้นโดยบริษัท โอเพนเอไอ (OpenAI) และมีการเปิดตัวเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2022 มีผู้ใช้งาน ChatGPT มากกว่า 100 ล้านคนจากผู้คนทั่วทั้งโลก (สามารถทดลองใช้งาน ChatGPT ได้ ที่นี่)


โดยปัจจุบัน ChatGPT เปิดให้บริการ 2 รูปแบบ ดังนี้

  • Free Plan - สามารถใช้งานได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้งาน แต่มีข้อจำกัดคือ ไม่สามารถใช้งานได้ขณะมีผู้ใช้งานจำนวนมาก รวมถึงระบบยังไม่เสถียรมากนัก 
  • ChatGPT Plus - มีค่าบริการเดือนละ 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 700 บาท) โดยมีข้อดีคือ เราสามารถใช้งานได้แม้ว่าจะเป็นช่วงที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก ระบบตอบโต้ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงสามารถให้คำตอบได้อย่างแม่นยำมากขึ้น


ChatGPT กับ การตลาด

จากข้อมูลข้างต้น ทุกคนคงเห็นแล้วว่า ChatGPT คืออะไรและมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน ซึ่งปัจจุบันผู้คนได้มีการนำ ChatGPT ไปเป็นเครื่องมือช่วยในการทำงานในสายงานอาชีพต่างๆ มากมาย เช่น งานเขียน งานแปลภาษา งานครีเอทีฟ งานเขียนโปรแกรม ฯลฯ และหนึ่งในสายงานที่ได้มีการนำ ChatGPT ไปช่วยมากที่สุดก็คือสายงาน “การตลาด” หรือ “Marketing” นั่นเอง 

ChatGPT กำลังได้รับความสนใจจากบรรดานักโฆษณาและนักการตลาดอย่างจริงจัง เพราะผู้คนในสายงานนี้เชื่อว่า ChatGPT มีอิทธิพลต่ออนาคตของวงการการตลาด และอาจถึงขั้นเปลี่ยนแปลงวิธีทำงานของผู้ที่อยู่ในวงการโฆษณาและการตลาดได้เลยทีเดียว

โดย Sandeep Joseph ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Ampersand Advisory บริษัทสื่อในมาเลเซีย ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “บริษัทต่าง ๆ เช่น Google กำลังเพิ่มขีดความสามารถด้าน AI และเมื่อมีผลิตภัณฑ์มากขึ้น นักการตลาดก็จะใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มากขึ้น แต่ไม่ใช่ว่า AI จะเข้ามาแทนที่นักการตลาด แต่นักการตลาดที่ชาญฉลาดจะใช้ AI เป็นเครื่องมือเพื่อครองตลาด”


แนวทางการใช้ ChatGPT ช่วยในการทำการตลาด

ChatGPT มีประสิทธิภาพมากเพียงพอที่จะช่วยให้นักการตลาดสามารถทำงานได้อย่างสะดวกสบายและเพิ่มศักยภาพให้สูงขึ้นได้ โดยผมขอยกตัวอย่างของการนำ ChatGPT ไปประยุกต์ใช้ในการช่วยด้านการตลาด พร้อมแนบรูปจากการใช้งานจริงมาประกอบเพื่อให้ทุกคนได้เห็นภาพมากขึ้นด้วยครับ

ค้นหาไอเดียหัวข้อสำหรับการทำคอนเทนต์

การริเริ่มที่จะคิดหรือค้นหาไอเดียสำหรับทำคอนเทนต์ บางคนทำโดยการค้นหาจากอินเทอร์เน็ต บางคนทำโดยการสอดส่องคู่แข่ง แต่ ณ ตอนนี้ ChatGPT สามารถช่วยให้เหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์และนักการตลาดสายคอนเทนต์ค้นหาไอเดียใหม่ๆ ได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งทำให้แก้ปัญหาการคิดไอเดียไม่ออกไปได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว

โดยเราสามารถพิมพ์คำสั่งการกับ ChatGPT ว่า “คิดไอเดียหัวข้อคอนเทนต์ เกี่ยวกับ “…” ” ได้เลย จากนั้น ChatGPT ก็จะนำเสนอไอเดียต่างๆ สำหรับทำคอนเทนต์ที่เราสามารถนำไปต่อยอดหรือปรับใช้ได้ต่อทันที

ตัวอย่างการใช้ ChatGPT ในการค้นหาไอเดียหัวข้อสำหรับคอนเทนต์
                                                ตัวอย่างการใช้ ChatGPT ในการค้นหาไอเดียหัวข้อสำหรับคอนเทนต์

เขียนคอนเทนต์

การเขียนคอนเทนต์ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบบทความ แคปชัน หรืออื่นๆ ถือเป็นงานที่ต้องอาศัยทักษะที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านการสื่อสารและความคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งเนื้อหาหรือข้อมูลของคอนเทนต์ต้องมีความน่าเชื่อถือ ถูกต้อง และแม่นยำด้วย ซึ่ง ChatGPT ก็สามารถเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระงานของเหล่านักตลาดสายงานเขียนไปได้พอตัวเลย

โดยเราสามารถพิมพ์สั่งคำสั่งการกับ ChatGPT ว่า “เขียนคอนเทนต์ เกี่ยวกับ “...” ” จากนั้น ChatGPT ก็จะนำเสนองานเขียนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เราต้องการมาทันที นอกจากนี้เรายังสามารถระบุจำนวนคำที่ต้องการให้ ChatGPT เขียนได้เช่นกัน เนื่องจากงานเขียนบางประเภทอาจต้องมีจำนวนคำที่เฉพาะเจาะจง 

ตัวอย่างการใช้ ChatGPT ในการเขียนคอนเทนต์
                                                              ตัวอย่างการใช้ ChatGPT ในการเขียนคอนเทนต์

คิด Copywriting

Copywriting หรือ การเขียนคำโฆษณา ถือเป็นงานที่ต้องอาศัยทักษะการสื่อสารและความคิดสร้างสรรค์เหมือนงานเขียนคอนเทนต์ แต่สิ่งที่ท้าท้ายก็คือการสื่อสารเพื่อจูงใจผู้คนในรูปแบบประโยคสั้นๆ ซึ่งแน่นอนว่า ChatGPT ก็มีความสามารถมากพอที่จะช่วยคิดคำโฆษณาที่หลากหลายและมีความสร้างสรรค์ด้วยเช่นกัน

โดยเราสามารถพิมพ์สั่งคำสั่งการกับ ChatGPT ว่า “เขียน Copywriting เกี่ยวกับ “...” ” ซึ่ง ChatGPT ก็จะเสนอไอเดียของคำโฆษณามาหลากหลายไอเดียที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราได้ทำการระบุไว้

ตัวอย่างการใช้ ChatGPT ในการคิด Copywriting
                                                           ตัวอย่างการใช้ ChatGPT ในการคิด Copywriting

วางแผนกลยุทธ์การตลาด

กลยุทธ์การตลาด ถือเป็นงานที่มีความละเอียดซับซ้อนและหลายขั้นตอน การจะสร้างกลยุทธ์การตลาดสำหรับธุรกิจๆ หนึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย โดย ChatGPT สามารถทำให้เรื่องการวางแผนการตลาดไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปสำหรับเหล่านักการตลาด รวมถึงเจ้าของธุรกิจที่กำลังเริ่มต้นสร้างธุรกิจ

โดยเราสามารถพิมพ์สั่งคำสั่งการกับ ChatGPT ว่า “วางแผนกลยุทธ์การตลาด สำหรับ “...” ” จากนั้น ChatGPT ก็จะวางแผนและนำเสนอรายละเอียดของกลยุทธ์การตลาดที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่เราต้องการ ซึ่งเราสามารถนำแผนงานนี้ไปปรับใช้กับธุรกิจได้อย่างทันที

ตัวอย่างการใช้ ChatGPT ในการวางแผนกลยุทธ์การตลาด
                                                     ตัวอย่างการใช้ ChatGPT ในการวางแผนกลยุทธ์การตลาด


ข้อแตกต่างของ AI Chatbot ระหว่าง ChatGPT และ Bard

มาถึงตรงนี้ ทุกคนคงรู้จัก ChatGPT กันพอสมควรกันแล้วใช่ไหมครับ แต่รู้หรือไม่ว่าปัจจุบันได้มี AI Chatbot ที่ถูกสร้างและพัฒนาขึ้นมามากมาย ซึ่งถือเป็นคู่แข่งทางตรงกับ ChatGPT เลยก็ว่าได้ โดยผมจะขอยกคู่แข่งอันดับ 1 ที่เพิ่งถูกเปิดตัวในปีนี้อย่าง “Bard” มาเปรียบเทียบกับ ChatGPT กันแบบคร่าวๆ ว่ามีข้อแตกต่างกันอย่างไรบ้าง (ข้อมูล ณ วันที่ 26 พฤษภาคม 2566)


ChatGPT

ผู้ก่อตั้ง

ChatGPT ถูกสร้างและพัฒนาโดยบริษัท โอเพนเอไอ (OpenAI) ซึ่งถูกก่อตั้งในวันที่ 11 ธันวาคม 2015 โดยมีแซม อัลท์แมน (Sam Altman) เป็น CEO คนปัจจุบัน โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มูลค่าบริษัทในปัจจุบันอยู่ที่ 979,220 ล้านบาท

จุดเด่นของ ChatGPT

  • รองรับภาษาไทย
  • ใช้งานกับบริการของ Google และ Microsoft ได้

ข้อจำกัดของ ChatGPT

  • เป็นข้อมูลจากฐานข้อมูลปี 2021 
  • หากต้องการใช้งานแบบเต็มประสิทธิภาพจะต้องเสียค่าใช้จ่าย

แนวทางการพัฒนาในอนาคต

  • รองรับการนำรูปภาพมาใส่
  • พัฒนาการใช้ภาษาให้มีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น


Bard

ผู้ก่อตั้ง

Bard ถูกสร้างและพัฒนาโดยบริษัท กูเกิล (Google) ซึ่งถือเป็นบริษัทระดับโลกที่คนทั่วโลกต่างรู้จักชื่อเสียงเรียงนามและอาจเคยใช้บริการของ Google กันแทบทุกคนแล้ว โดยทาง Google เพิ่งได้เปิดตัวและให้ผู้คนมาทดลองใช้งาน Bard เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2023 ที่ผ่านมา

จุดเด่นของ ChatGPT

  • เป็นข้อมูลจากฐานข้อมูลล่าสุด
  • ใช้งานกับบริการของ Google ได้
  • มีการอ้างอิงแหล่งข้อมูลให้

ข้อจำกัดของ ChatGPT

  • ยังไม่รองรับภาษาไทย
  • ยังอยู่ในช่วงให้ทดลองใช้งาน
  • ยังตอบคำถามที่ซับซ้อนไม่ได้

แนวทางการพัฒนาในอนาคต

  • รองรับภาษาไทย
  • รองรับการนำรูปภาพมาใส่
  • คาดว่าจะมีการนำ Adobe Firefly มาให้บริการบน Bard
ข้อแตกต่างของ AI Chatbot ระหว่าง ChatGPT และ Bard (ข้อมูล ณ วันที่ 26 พฤษภาคม 2566)
                                                     ข้อแตกต่างของ AI Chatbot ระหว่าง ChatGPT และ Bard
                                                                   (ข้อมูล ณ วันที่ 26 พฤษภาคม 2566)


สรุป

ChatGPT คือ AI Chatbot ที่สามารถตอบคำถามในรูปแบบข้อความ โดยจะดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลในอินเทอร์เน็ตมาตอบคำถามของผู้ใช้งาน เช่น การให้ข้อมูลเชิงวิชาการ แก้โจทย์คณิตศาสตร์ ช่วยสร้างกลุยุทธ์การตลาด เขียนโค้ด เขียนเพลง ตอบเรื่องปัญหาชีวิต เล่นมุกตลก ฯลฯ โดยในปัจจุบัน ChatGPT กำลังได้รับความสนใจจากบรรดานักโฆษณาและนักการตลาดอย่างจริงจัง เพราะผู้คนในสายงานนี้เชื่อว่า ChatGPT มีอิทธิพลต่ออนาคตของวงการการตลาด และอาจถึงขั้นเปลี่ยนแปลงวิธีทำงานของผู้ที่อยู่ในวงการโฆษณาและการตลาดได้เลยทีเดียว ซึ่งความสามารถของ ChatGPT สามารถช่วยนักการตลาดได้มากมาย เช่น ค้นหาไอเดียหัวข้อสำหรับคอนเทนต์ เขียนคอนเทนต์ คิด Copywriting รวมถึงช่วยในการวางแผนกลยุทธ์การตลาดได้อีกด้วย 

หวังว่าผู้อ่านทุกคนจะได้รับประโยชน์จากบทความนี้ไปไม่มากก็น้อยนะครับ :) 💙



ปรึกษาการทำการตลาดออนไลน์กับผู้เชี่ยวชาญจาก Friday Digital เลย!

Email: hello@fridaydigital.co
Phone: 065-962-2064
Location: อาคารอัมรินทร์ทาวเวอร์ เลขที่ S5056-5057 ชั้น 5 เลขที่ 496-502 ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 ประเทศไทย