Content Marketing หรือการตลาดเชิงเนื้อหา ถือเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ช่วยให้แบรนด์เติบโตได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน โดยหากใครอยากที่จะเข้าใจความหมายของ Content Marketing อย่างลึกซึ้ง และอยากรู้ว่า Content Marketing แบ่งออกได้เป็นกี่ประเภท มีข้อดีอย่างไร ฯลฯ สามารถคลิกอ่านได้จากบทความเรื่อง Content Marketing คืออะไร? การตลาดที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ ได้เลยครับ
ส่วนในบทความนี้ผมจะพาทุกคนมาลงรายละเอียดในส่วนของ “กลยุทธ์ Content Marketing” ว่ามีขั้นตอนและวิธีการอะไรบ้าง มีรูปแบบกลยุทธ์แบบใดบ้างที่น่าสนใจ รวมถึงตัวอย่างกลยุทธ์จากแบรนด์ยักษ์ใหญ่ เพื่อให้ทุกคนสามารถนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาแผนงานสำหรับการทำ Content Marketing ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นครับ
กลยุทธ์ Content Marketing คืออะไร
กลยุทธ์ Content Marketing คือแผนการที่ใช้ในการสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณค่าและน่าสนใจ เพื่อเชื่อมโยงและสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ โดยเป้าหมายหลักของกลยุทธ์ Content Marketing คือการเพิ่มความเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมายและส่งมอบคุณค่าบางอย่างผ่านคอนเทนต์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ โดยสิ่งที่จะบ่งบอกว่ากลยุทธ์ Content Marketing ที่ใช้อยู่นั้นประสบความสำเร็จ ขึ้นอยู่กับความสามารถของแบรนด์ในการสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณค่าต่อกลุ่มเป้าหมาย และการใช้ช่องทางต่างๆ เพื่อเผยแพร่และกระจายคอนเทนต์ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

5 ขั้นตอนในการสร้างกลยุทธ์ Content Marketing
ขั้นตอนที่ 1 : การกำหนดเป้าหมาย (Goal Setting)
ขั้นตอนเริ่มแรกในการสร้างกลยุทธ์ Content Marketing ต้องเริ่มจากการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนว่าแบรนด์ต้องการอะไรจากการทำ Content Marketing
ยกตัวอย่างเช่น
- เพื่อเพิ่มยอดขาย
- เพื่อสร้างความการรับรู้ให้กับแบรนด์
- เพื่อเพิ่มยอด Engagement ให้กับแบรนด์
- เพื่อสร้างหรือรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า
หากแบรนด์มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนได้แล้ว จะทำให้เห็นถึงทิศทางของขั้นตอนถัดๆ ไปในการสร้างกลยุทธ์มากยิ่งขึ้นว่าควรจะทำอย่างไรต่อ เช่น หากแบรนด์มีเป้าหมายในการทำ Content Marketing เพื่อเพิ่มยอดขาย กลุ่มเป้าหมายก็ควรจะเป็นกลุ่มคนที่รู้จักแบรนด์อยู่แล้ว รู้ว่าแบรนด์ขายอะไร และมีความสนใจในผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ โดยคอนเทนต์ที่ควรจะส่งมอบให้กับคนกลุ่มนี้ก็ควรเป็นคอนเทนต์ที่ช่วยกระตุ้นความต้องการ เช่น คอนเทนต์ที่บอกถึงประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้เกิดความต้องการที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ของแบรนด์มากยิ่งขึ้น เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 2 : การวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย (Target Audience Analysis)
หลังจากกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนได้แล้ว ควรทำการศึกษาและวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายของแบรนด์อย่างละเอียด โดยการทำความเข้าใจถึงความต้องการ ปัญหา และความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้คอนเทนต์ของแบรนด์เข้าถึงและสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
โดยเราสามารถทำความรู้จักและเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมายโดยวิเคราะห์จาก “Buyer / Audience Persona” ซึ่งเป็นกระบวนการวิเคราะห์องค์ประกอบต่างๆ ของกลุ่มเป้าหมาย เช่น อายุ เพศ อาชีพ ความสนใจ พฤติกรรม ฯลฯ

ขั้นตอนที่ 3 : การวางแผนคอนเทนต์ (Content Planning)
ขั้นตอนถัดจากการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย คือการวางแผนคอนเทนต์ที่จะถูกส่งมอบให้กับกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ โดยในขั้นตอนนี้จะมี 4 เรื่องหลักๆ ที่แบรนด์จะต้องตัดสินใจเลือกใช้ให้ดี ได้แก่
1. หัวข้อของคอนเทนต์
ในส่วนนี้จะเป็นการวิเคราะห์และค้นหาว่ากลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ชื่นชอบหัวข้อคอนเทนต์ในแนวไหน โดยเราสามารถทำได้โดยหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการดู Search Keywords, สอดส่องคู่แข่ง, ใช้ Social Listening Tools รวมถึงติดตามดูว่าเทรนด์ในช่วงเวลานั้นมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เพื่อที่จะนำมาต่อยอดให้เกิดเป็นไอเดียสำหรับการกำหนดหัวข้อของคอนเทนต์ได้
2. รูปแบบของคอนเทนต์
- รูปภาพ - รูปเดี่ยว / อัลบั้มรูป / อินโฟกราฟิก
- วิดีโอ
- การไลฟ์สด
- บทความ
- E-Book
- Podcast
- Newsletter
- Webinar
3. ลักษณะของคอนเทนต์
- เป็นกันเอง
- กึ่งเป็นกันเอง กึ่งเป็นทางการ
- เป็นทางการ
4. ช่องทางในการเผยแพร่คอนเทนต์
- โซเชียลมีเดีย - Facebook, Instagram, Twitter, YouTube, TikTok, etc.
- เว็บไซต์
- อีเมล
การตัดสินใจใน 2 เรื่องข้างต้นนี้ จะต้องอาศัยข้อมูลจากขั้นตอนที่ 2 ซึ่งก็คือการวิเคราะห์จากลักษณะของกลุ่มเป้าหมายว่าชื่นชอบคอนเทนต์ที่อยู่ในรูปแบบใด และกลุ่มเป้าหมายใช้ช่องทางใดในการเสพคอนเทนต์เป็นหลัก ตัวอย่างเช่น หากกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มคน “Gen Y อยู่ในช่วงวัยทำงาน เป็นคนที่ชอบตามเทรนด์ ชอบเสพคอนเทนต์สั้นๆ ที่ช่วยให้คลายเครียด และใช้โซเชียลมีเดียเป็นชีวิตจิตใจ” เราอาจจะวิเคราะห์และตัดสินใจจากข้อมูลตรงนี้ได้ว่า เราควรเลือกหัวข้อของคอนเทนต์ที่ “อิงกับเทรนด์ในช่วงนั้น” คอนเทนต์ควรอยู่ในรูปแบบของ “วิดีโอสั้น” ลักษณะแบบ “เป็นกันเอง” และเผยแพร่ในช่องทาง “TikTok” เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 4 : การสร้างคอนเทนต์ (Content Creation)
หากเราวางแผนคอนเทนต์เรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนของการลงมือสร้างสรรค์คอนเทนต์ตามแผนงานที่ได้วางไว้ ซึ่งหากมีการวางแผนมาอย่างละเอียดถี่ถ้วนในขั้นตอนก่อนหน้านี้แล้ว แน่นอนว่าจะทำให้ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ไม่ได้ยากอย่างที่คิดเลย โดยสิ่งที่ต้องคำนึกเป็นหลักในขั้นตอนนี้ก็คือการมุ่งเน้นสร้างคอนเทนต์ให้ “มีความน่าสนใจ มีคุณภาพ มีคุณค่า” ต่อกลุ่มเป้าหมาย หากทำได้ก็จะเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสที่กลุ่มเป้าหมายจะทำการแชร์คอนเทนต์นั้นไปยังเพื่อนและคนอื่นๆ อีกทั้งยังช่วยสร้างความน่าเชื่อถือต่อแบรนด์ให้กับกลุ่มเป้าหมายด้วย
ขั้นตอนที่ 5 : การวัดและประเมินผล (Measurement and Evaluation)
ขั้นตอนสุดท้ายของการสร้างกลยุทธ์ Content Marketing คือการวัดและประเมินผลการดำเนินการทั้งหมด เป็นขั้นตอนที่จะช่วยให้เห็นภาพว่าคอนเทนต์ที่สร้างขึ้นนั้นมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน และช่วยให้เข้าใจถึงพฤติกรรมในการเสพคอนเทนต์ของกลุ่มเป้าหมายอีกด้วย โดยวัดจากตัวชี้วัดต่างๆ (Metrics) เช่น ยอดการเข้าชมเว็บไซต์ อัตราการแปลงของผู้เยี่ยมชมเป็นลูกค้า การแชร์ หรือความสำเร็จอื่นๆ ตามเป้าหมายที่แบรนด์ได้กำหนดไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งเราสามารถเลือกใช้เครื่องมือวัดผลต่างๆ เช่น Google Analytics เพื่อวัดผลการเข้าชมเว็บไซต์ หรือ Social Media Analytics ต่างๆ เพื่อวัดผลคอนเทนต์ที่ถูกเผยแพร่บนช่องทางโซเชียลมีเดีย หลังจากนั้นก็นำผลการประเมินไปวิเคราะห์ต่อเพื่อนำไปปรับปรุงกลยุทธ์ Content Marketing ให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้นในอนาคต

ตัวอย่างรูปแบบกลยุทธ์ Content Marketing ที่น่าสนใจ
- คอนเทนต์เชิงคุณค่า (Value-Driven Content)
เป็นการนำเสนอคอนเทนต์ที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมาย โดยการให้ข้อมูลที่น่าสนใจ คำแนะนำ และคำตอบที่มีประโยชน์สำหรับผู้อ่านหรือผู้ชม ทำให้แบรนด์เป็นที่ยอมรับในวงการที่เกี่ยวข้อง
- คอนเทนต์ที่พูดถึงปัญหาและความต้องการของลูกค้า (Problem-Centric Content)
เป็นการพยายามที่จะเข้าใจถึงปัญหาและความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และสร้างคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น โดยการให้ข้อมูลเชิงลึกและวิธีการแก้ไขที่ชัดเจน ซึ่งทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าแบรนด์เข้าใจและสามารถช่วยเหลือได้
- คอนเทนต์แบบการเล่าเรื่องราว (Storytelling Content)
เป็นการสร้างความสนใจและความสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายผ่านการสร้างคอนเทนต์เล่าเรื่องราวที่ชวนให้น่าติดตาม เช่น วิดีโอเล่าเรื่องประวัติความเป็นมาของแบรนด์ หรือบล็อกแชร์ประสบการณ์โดยตรงจากลูกค้าของแบรนด์ เป็นต้น
- คอนเทนต์ความบันเทิง (Entertainment Content)
เป็นการนำเสนอความสนุกสนานและบันเทิงให้กับกลุ่มเป้าหมายผ่านการสร้างคอนเทนต์ที่มุ่งเน้นการทำให้ผู้ชมรับรู้ความสนุกสนานและมีความสุขในขณะที่ใช้เวลากับคอนเทนต์นั้นๆ อีกทั้งยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้แบรนด์ดูเป็นมิตรและเข้าถึงง่ายด้วย
- คอนเทนต์จากบุคคลที่มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์ (Influencer Content)
เป็นการใช้กลยุทธ์การตลาดแบบ Influencer ที่จะให้ผู้มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์นำเสนอคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับแบรนด์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและมุ่งที่จะสร้างความไวรัลในกลุ่มเป้าหมาย
ตัวอย่างกลยุทธ์ Content Marketing จากแบรนด์ยักษ์ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ
- Coca-Cola
Coca-Cola ใช้กลยุทธ์ Content Marketing แบบ “User-Generated Content (UGC)” โดยเปิดโอกาสให้กับผู้บริโภคในการสร้างเนื้อหาและแบ่งปันผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยใช้แฮชแท็กที่เป็นเครื่องหมายของแบรนด์เพื่อสร้างความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้ยังสร้างแคมเปญการแข่งขัน UGC เพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้บริโภคที่มีสิ่งที่น่าสนใจสร้างคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ Coca-Cola ซึ่งส่งผลให้กลายเป็นกิจกรรมที่แพร่หลายไปทั่วโลกออนไลน์

ที่ที่มา: medium.com
- Nike
Nike ใช้กลยุทธ์ Content Marketing แบบ “Influencer Content” โดยการร่วมงานกับนักกีฬาและบุคคลที่มีอิทธิพลในวงการกีฬา เช่น การนำนักกีฬาที่มีชื่อเสียงมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ การโปรโมทจากนักกีฬาดัง หรือการร่วมงานกับครูสอนฟิตเนสที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก โดยคอนเทนต์ที่สร้างขึ้นจะเน้นถึงความสามารถในด้านกีฬา และเกี่ยวข้องกับการใช้ผลิตภัณฑ์ของ Nike ซึ่งทำให้เกิดความน่าสนใจและเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมาย

ที่มา: mageplaza.com
- Airbnb
Airbnb ใช้กลยุทธ์ Content Marketing แบบ “Storytelling Content” โดยการเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับผู้เข้าพักและเจ้าของที่พักผ่านคอนเทนต์ที่สร้างขึ้น เรื่องราวเหล่านี้ช่วยสร้างความสนใจและความเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมาย อีกทั้งสร้างความไวรัลผ่านการแบ่งปันของผู้ใช้งานด้วย

ที่มา: marq.com
- HubSpot
HubSpot ใช้กลยุทธ์ Content Marketing แบบ “Content Hub” โดยดำเนินการสร้างเว็บไซต์ที่เป็นแหล่งรวมข้อมูลและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการตลาดและการขาย เว็บไซต์นี้เป็นแหล่งที่สะสมความรู้ คำแนะนำ และเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ที่สนใจเรื่องการตลาดและการขายสามารถเข้าถึงข้อมูลและแนวคิดใหม่ๆ ได้ โดยกลยุทธ์นี้ช่วยให้ HubSpot กลายเป็นแบรนด์ที่น่าสนใจและได้รับความนิยมจากนักการตลาดทั่วทุกมุมโลก

ที่มา: blog.hubspot.com
สรุป
กลยุทธ์ Content Marketing คือแผนการที่ใช้ในการสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณค่าและน่าสนใจ เพื่อเชื่อมโยงและสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ ซึ่งมีเป้าหมายหลักคือการเพิ่มความเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมายและส่งมอบคุณค่าบางอย่างผ่านคอนเทนต์เพื่อสร้างความไว้วางใจต่อแบรนด์ โดยเราสามารถแบ่งขั้นตอนในการสร้างกลยุทธ์ Content Marketing ออกเป็น 5 ขั้นตอนหลักๆ ได้แก่ การกำหนดเป้าหมาย การวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย การวางแผนคอนเทนต์ การสร้างคอนเทนต์ และการวัดและประเมินผล
หวังว่าผู้อ่านทุกคนจะได้รับประโยชน์จากบทความนี้ไปไม่มากก็น้อยนะครับ :) 💙
ปรึกษาการทำการตลาดออนไลน์กับผู้เชี่ยวชาญจาก Friday Digital เลย!
Email: hello@fridaydigital.co
Phone: 065-962-2064
Location: อาคารอัมรินทร์ทาวเวอร์ เลขที่ S5056-5057 ชั้น 5 เลขที่ 496-502 ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 ประเทศไทย